
“เด็กติดในรถ” หรือ “ลืมเด็กในรถ” โศกนาฏกรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
โศกนาฏกรรม คือ เรื่องราวหรือเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไปที่เกิดขึ้นและลงท้ายด้วยความเศร้า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้คาดคิดมาก่อน เป็นสิ่งที่สร้างความสูญเสียให้กับผู้คนมากมายทั้งด้านร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน
"เด็กติดในรถ" หรือ “ลืมเด็กในรถ” นับได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมซ้ำรอยที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจากข้อมูลของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ที่ได้เผยแพร่สถิติเกี่ยวกับเหตุการณ์ “ลืมเด็กในรถ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2563 (7 ปี) พบว่า มีเหตุการณ์เด็กที่ถูกลืมและทิ้งให้อยู่ในรถตามลำพังทั้งหมด 129 เหตุการณ์ ซึ่งในจำนวนนั้นมีเด็กเสียชีวิต 6 ราย โดยเป็นเด็กอายุ 2-6 ปี เหตุการณ์เกิดขึ้นในรถรับส่งนักเรียน 5 ราย และรถยนต์ส่วนบุคคล 1 ราย โดยทุกเหตุการณ์เด็กถูกลืมทิ้งไว้นานกว่า 6 ชั่วโมงขึ้นไป และล่าสุดในปี พ.ศ. 2565 ได้เกิดเหตุการณ์เด็กถูกลืมในรถตู้โรงเรียนเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย รวม 9 ปี เกิดเหตุการณ์เด็กติดในรถหรือลืมเด็กในรถทั้งหมด 130 เหตุการณ์
ซึ่งกรณีที่เด็กติดอยู่ในรถแล้วเสียชีวิตนั้น คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะขาดอากาศหายใจ แต่จากข้อมูลการทดสอบกรณีเด็กติดในรถ (จอดรถกลางแดด) ของศูนย์วิจัยสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า เด็กที่ติดอยู่ในรถไม่ได้เสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ แต่เป็นเพราะความร้อนภายในรถที่สูงขึ้น โดยมีข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
- หากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดด 5 นาที อุณหภูมิจะสูงขึ้นจนไม่สามารถทนอยู่ได้
- หากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดด 10 นาที ร่างกายจะยิ่งแย่
- หากเด็กติดอยู่ในรถที่จอดกลางแดด 30 นาที เด็กจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด ช็อก หมดสติ สมองบวม จากนั้นอาจหยุดหายใจ อวัยวะทุกอย่างจะหยุดทำงาน และอาจเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ "เด็กติดในรถ" หรือ “ลืมเด็กในรถ” เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นและสามารถป้องกันได้ด้วยความร่วมมือของผู้ปกครอง พนักงานขับรถรับ-ส่งนักเรียน เจ้าหน้าที่ประจำรถ และครูที่ดูแลเด็กนักเรียน ดังนั้น กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค จึงได้ให้คำแนะนำเบื้องต้น 3 ข้อที่ควรจำ ดังนี้
1. นับ คือ นับจำนวนเด็กก่อนขึ้นและหลังลงจากรถทุกครั้ง
2. ตรวจตรา คือ ก่อนล็อคประตูรถ ตรวจดูให้ทั่วรถ อย่ามองข้ามเด็กที่นอนหลับ
3. อย่าประมาท คือ อย่าทิ้งเด็กไว้เพียงลำพังแม้ช่วงเวลาสั้น ๆ
นอกจากนี้ ผู้ปกครองและคุณครูยังควรสอนเทคนิคเบื้องต้นให้เด็กรู้วิธีการเอาตัวรอดด้วยตัวเอง โดยการ “บีบแตรรถ” เพื่อขอความช่วยเหลือหากติดอยู่ในรถเพียงลำพังด้วย
Share On
Facebook
Linkedin
Twitter
Whatsapp
Line
SMS
Mail